Last updated: 5 พ.ค. 2565 | 503 จำนวนผู้เข้าชม |
แผนดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าและย่านชุมชนเก่า ปี2563-64
เมืองเก่าและย่านชุมชนเก่าในประเทศไทย เป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมสำคัญที่มีศักยภาพในการช่วยสังคมเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี หากสามารถอนุรักษ์และพัฒนาในแนวทางที่เหมาะสมกับวิถีท้องถิ่น ให้เกิดดุลยภาพระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ วิถีชีวิตวัฒนธรรมในอดีตกับปัจจุบัน เศรษฐกิจวัฒนธรรมและเศรษฐกิจทุนนิยมผ่านการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่และสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ให้เสรีภาพกับบุคคลในการรวมตัวกันเป็นชุมชนหรือหมู่คณะ (มาตรา 42) แล้วบุคคลและชุมชนยังได้รับสิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิทางสิ่งแวดล้อม สิทธิในการเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน รวมทั้งสิทธิในการจัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน (มาตรา 43) โดยสิทธิดังกล่าวนี้ยังรวมความถึงการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดำเนินการด้วย นอกจากนั้นแล้วรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของบุคคลในการร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมด้วย (มาตรา 50 (8)) แต่ในทางการบริหารจัดการ รัฐยังขาดกฎหมายลูกที่ประชาชนมีส่วนร่วมและการสนับสนุนทางด้านงบประมาณ เช่นการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนามรดกเมืองเก่า/ ย่านชุมชนเก่า” เพื่อให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมและนำไปใช้ในการอนุรักษ์และพัฒนามรดกในระดับท้องถิ่นที่ประชาชนเป็นเจ้าของ ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องรอภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง
ในปัจจุบัน รัฐเริ่มมีการประกาศขอบเขตเมืองเก่า และจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าให้เป็นรูปธรรม ผ่านคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า โดยที่สมาคมอนุรักษ์ฯ (SCONTE) ได้จัดนิทรรศการและเสวนาเมืองเก่าในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งจากการเสวนาในรอบต่างๆนั้น ได้รับความเห็นจากผู้เข้าร่วมหลายท่าน สะท้อนถึงความต้องการที่จะเห็นความร่วมมือเช่นนี้ต่อไป ทางสมาคมอนุรักษ์ฯ จึงเกิดแนวคิด ในการสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในงานส่งเสริมการนำร่องแผนการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เป็นการเชื่อมโยงการทำงานของภาครัฐและประชาสังคมในเมืองเก่า โดยสมาคมอนุรักษ์ฯ (SCONTE) จะทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานเครือข่าย ในพื้นที่เมืองเก่าต่างๆที่มีภาคประชาสังคมพร้อมรับการสนับสนุน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมงานก่อนที่จะมีการบังคับใช้แผนเมืองเก่าฯในพื้นที่ เพื่อให้เกิดเป็นตัวอย่างนำร่องที่เหมาะสมในการอนุรักษ์และพัฒนา ให้สอดคล้องกับบริบทและเกิดดุลยภาพระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรม ตามแนวทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) รวมถึงการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนามรดกเมืองเก่า/ ย่านชุมชนเก่า” เพื่อใช้เป็นทุนสนับสนุนการดำเนินงานตามสิทธิทางวัฒนธรรมของประชาชนและเป็นการเรียกร้องให้รัฐโอนงบประมาณท้องถิ่นลงมาดูแล ตามสิทธิทางวัฒนธรรมของชุมชน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพิจารณาประสานเมืองเก่าและย่านชุมชนเก่าที่มีภาคประชาสังคมที่มีศักยภาพพร้อมในการดำเนินงานอนุรักษ์และพัฒนาตามแผนเมืองเก่าและย่านชุมชนเก่าฯ
2. ประสานงานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมในเมืองเก่าโดยสมาคมSCONTE (Bridging all sector)
3. ประสานเพื่อจัดตั้งกองทุนในการดำเนินงานของตัวแทนภาคประชาสังคมในพื้นที่เมืองเก่าและย่านชุมชนเก่าที่เริ่มดำเนินการ ภายในระยะเวลา 2ปี และได้รับการยอมรับ และรับรองจากภาครัฐ
4. เพื่อสนับสนุนด้านความรู้ วิชาการต่างๆ ส่งเสริมกลุ่มภาคประชาสังคมในท้องถิ่นที่ขับเคลื่อนการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่านำร่องและย่านชุมชนเก่าต่างๆให้เกิดความเข้มแข็งและสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับของภาครัฐ
5. เพื่อเป็นตัวอย่างในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า โดยการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่เมืองเก่าและย่านชุมชนเก่า ให้สอดคล้องกับบริบทและมีดุลยภาพระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมของท้องถิ่น และใช้เป็นตัวขับเคลื่อนการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าและย่านชุมชนเก่า ในช่วงปี63-64 (2 ปี)
แนวทางการดำเนินงาน
1. SCONTE แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าและย่านชุมชนเก่า และกองทุนในการใช้ดำเนินงาน
2. คณะทำงานฯ เป็นตัวแทนSCONTE แจ้งและประสานกับ สผ.และคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เมืองเก่า และคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรม เพื่อประสานความคืบหน้าในการดำเนินงานตลอดระยะเวลาในการดำเนินงาน
3. คณะทำงานฯประสานเมืองเก่าและย่านชุมชนเก่าที่มีตัวแทนภาคประชาสังคมที่มีศักยภาพในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ (ยกตัวอย่าง เมืองเก่าและย่านชุมชนเก่าที่มีภาคประชาสังคมที่มีศักยภาพ อาทิเช่น แพร่ สงขลา ภูเก็ต จันทบุรี ระนอง พิมาย ฯลฯ)
4. คณะทำงานฯประสานและลงพื้นที่เพื่อประชุมร่วมกับตัวแทนภาคประชาสังคมในเมืองเก่าและย่านชุมชนเก่านั้นๆ เพื่อหารือร่วมกันในการดำเนินงานในรายละเอียด
5. คณะทำงานฯประสานจัดตั้ง “กองทุนอนุรักษ์และพัฒนามรดกเมืองและย่านชุมชนเก่า........” (Old Town Heritage Fund) เพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินงานและเพื่อการประชาสัมพันธ์เมืองเก่าและย่านชุมชนเก่าอย่างมีเป้าหมาย
6. คณะทำงานฯทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของตัวแทนภาคประชาสังคมในการดำเนินงานตามแผนแม่บทอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าและย่านชุมชนเก่านำร่อง และประสานขอความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนในการดำเนินงานให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์
4 พ.ค. 2565